Where we are

MACO is Thailand

leading creative and innovative out of home media solution provider.

เพิ่มภาษีป้ายโฆษณา 500%

ท้องถิ่นกระเป๋ากลวงดิ้นหารายได้ปี′60 เพิ่ม 4.2 หมื่นล้าน มหาดไทยส่งสัญญาณเร่งจัดเก็บภาษีโปะ ส่งทีมตรวจยิบบ้าน-คอนโดฯปล่อยเช่า

สั่งโฟกัสแหล่งรายได้ใหม่ รอไฟเขียวขึ้นภาษีป้าย 300-500% โฆษณาเคลื่อนที่-ดิจิทัล-อิเล็กทรอนิกส์ แจ็กพอตยกแผง กทม.-อปท.ประสานเสียงหนุน ธุรกิจโอด ด้านสมาคมป้ายโฆษณาหวั่นกระทบทั้งอุตสาหกรรม

แหล่งข่าวจากกระทรวงมหาดไทยเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การพิจารณาปรับอัตราภาษีป้าย ตาม พ.ร.บ.ภาษีป้าย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2534 ที่คณะทำงานพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมอัตราภาษีป้าย

ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงการคลัง สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย และตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อยู่ระหว่างพิจารณามีความคืบหน้าเกือบ 100% แล้ว


ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการยกร่างกฎกระทรวงฉบับใหม่บังคับใช้แทน กฎกระทรวง (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2535 เมื่อแล้วเสร็จจะเสนอ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยพิจารณา และลงนามประกาศบังคับใช้

เบื้องต้นได้ปรับบัญชีอัตราภาษีป้ายใหม่จากเดิมมี 3 ประเภท เพิ่มเป็น 4 ประเภท เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์เศรษฐกิจสังคมปัจจุบัน ที่มีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ มาใช้ในการผลิตเผยแพร่ป้ายโฆษณาประชาสัมพันธ์เพิ่มขึ้นมาก

ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั้งเทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) เมืองพัทยา จัดเก็บรายได้นำไปพัฒนาพื้นที่ได้มากขึ้น

ขึ้นอัตราภาษีป้าย 3-5 เท่าตัว

รายละเอียดอัตราภาษีป้ายที่ปรับปรุงแก้ไขใหม่แต่ละประเภทกำหนดอัตราเพดานในการคิดคำนวณภาษีดังนี้

1.ป้ายที่จัดทำขึ้นโดยใช้อักษรไทยล้วนเดิมกฎกระทรวง (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2535 กำหนดอัตราภาษี 3 บาท/500 ตร.ซม. ปรับใหม่เป็น 10 บาท/500 ตร.ซม. หรือปรับเพิ่มจากเดิมกว่า 3 เท่าตัว

2.ป้ายที่จัดทำขึ้นโดยใช้อักษรภาษาไทยปนกับภาษาต่างประเทศ และหรือปนกับภาพและเครื่องหมายอื่น เดิมจัดเก็บ 20 บาท/500 ตร.ซม. ปรับเพิ่มเป็น 100 บาท/500 ตร.ซม. หรือปรับเพิ่มขึ้น 5 เท่า

3.ป้ายที่ไม่มีตัวอักษรภาษาไทย ไม่ว่าจะมีภาพหรือเครื่องหมายใด ๆ หรือไม่ และป้ายที่มีตัวอักษรภาษาไทยบางส่วนหรือทั้งหมดอยู่ใต้

หรือต่ำกว่าตัวอักษรภาษาต่างประเทศ เดิมจัดเก็บ 40 บาท/500 ตร.ซม. ปรับเพิ่มเป็น 200 บาท/500 ตร.ซม. หรือปรับภาษีเพิ่มขึ้นจากเดิม 5 เท่า

ป้าย “เคลื่อนที่-ดิจิทัล” แจ็กพอต

ขณะที่ป้ายประเภทที่ 4 กำหนดขึ้นใหม่ ได้แก่ ป้ายประเภทที่ 1 ประเภทที่ 2 หรือประเภทที่ 3 ซึ่งมีข้อความ เครื่องหมาย ภาพเคลื่อนที่ หรือเปลี่ยนเป็นข้อความ เครื่องหมาย หรือภาพอื่นได้

โดยเครื่องจักรกลหรือโดยวิธีการใด ๆ คิดอัตราภาษีตามจำนวนข้อความ เครื่องหมาย หรือภาพ หรือระยะเวลาที่ข้อความ เครื่องหมาย หรือภาพปรากฏอยู่ในป้าย หรือป้ายดิจิทัล ป้ายอิเล็กทรอนิกส์ เพดานอัตราภาษี 200 บาท/500 ตร.ซม.

ตรวจสอบยิบเก็บภาษีบ้านเช่า

แหล่งข่าวกล่าวว่า การปรับปรุงอัตราภาษีป้ายเป้าหมายหลักเพื่อให้เพิ่มรายได้ให้กับท้องถิ่น ลดการพึ่งพารายได้จากการอุดหนุนจากรัฐบาลลง อย่างไรก็ตาม เนื่องจากรายได้หลักของท้องถิ่นส่วนใหญ่มาจากการจัดเก็บภาษี 3 รายการหลัก

ได้แก่ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ภาษีบำรุงท้องที่ และภาษีป้าย แต่ละท้องถิ่นจึงต้องพยายามขยายฐานการจัดเก็บให้ครอบคลุมทั่วถึง อุดรูรั่วให้ปัญหาการหลีกเลี่ยงภาษีมีน้อยลง

อย่างเทศบาลบางบัวทอง จ.นนทบุรี จากเดิมที่ให้เน้นจัดเก็บภาษีบ้านเช่าอยู่แล้วก็ทำเข้มข้นขึ้น ส่งเจ้าหน้าที่ลงตรวจสอบตามโครงการบ้านจัดสรรทั้งบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ที่เจ้าของบ้านปล่อยเช่า

โดยประเมินค่าเช่าตามสภาพบ้านและทำเล เช่น หมู่บ้านจันทิมา และ ป.ผาสุข ทาวน์เฮาส์ 2 ชั้น ติดถนนกาญจนาภิเษก ประเมินค่าเช่าชั้นละ 1,000 บาท รวม 2,000 บาท/เดือน ปีละ 24,000 บาท เจ้าของบ้านต้องจ่ายภาษี 3,000 บาท ฯลฯ

อปท.รีดรายได้เพิ่ม 4.2 หมื่นล้าน

สาเหตุที่แต่ละท้องถิ่นพยายามจัดเก็บภาษีแต่ละประเภทเพิ่มขึ้นจากเดิม ส่วนหนึ่งมาจากประมาณการรายได้ของท้องถิ่นที่ตั้งไว้ในปีงบประมาณ 2560 สูงถึง 112,000 ล้านบาท เทียบกับปี 2559 เป้าหมายจัดเก็บรายได้อยู่ที่ 70,000 ล้านบาท หรือต้องจัดเก็บเพิ่มขึ้น 42,000 ล้านบาท

ซึ่งเดิมคาดหวังจะมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งจะนำมาใช้แทนภาษีโรงเรือนและที่ดินกับภาษีบำรุงท้องที่ แต่เนื่องจากร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. …. อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

ต้องใช้เวลาอีกระยะกว่าจะแล้วเสร็จ นอกจากนี้หลังประกาศบังคับใช้ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างรัฐบาลจะให้เวลาประชาชน รวมทั้งหน่วยงานท้องถิ่นปรับตัวอีก 2 ปี ทำให้ อปท.ต้องหาทางเพิ่มรายได้ทุกวิถีทาง

กทม.บี้ภาษีบ้าน-คอนโดฯเช่าโปะ

นางรัชนีวรรณ อัศวธิตานนท์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า กทม.มีคำสั่งไปยังผู้อำนวยการสำนักงานเขต 50 เขต ให้เก็บภาษีฐานใหม่เพิ่มขึ้น เช่น บ้านและคอนโดฯปล่อยเช่า

เนื่องจากภาษีค่าธรรมเนียมและค่าจดจำนองที่รัฐจัดเก็บให้ กทม.ปีนี้หายไป 5,000 ล้านบาท หลังมีมาตรการลดค่าโอนและค่าจดจำนองลงเหลือ 0.01%

โดยให้แต่ละเขตเพิ่มค่าประมาณการการจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้น เช่น เป้าเดิม 70 ล้านบาท เพิ่มเป็น 100 ล้านบาท ชดเชยรายได้ที่หายไป

“ปี′59 ตั้งเป้าจัดเก็บรายได้ 7 หมื่นล้านบาท แต่ยังเก็บได้ 6.3 หมื่นล้านบาทเศษ ทุกเขตจึงต้องตรวจสอบการเสียภาษีเข้มขึ้น

อย่างภาษีโรงเรือนฯแนวราบ หากพบปล่อยเช่า เป็นอาคารพาณิชย์ ต้องเสียภาษี แต่จัดเก็บง่ายกว่าคอนโดฯ เพราะจะมีฐานข้อมูลอยู่แล้ว

นายกฤษฎา ศิริพิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักการคลัง กทม. กล่าวว่า การเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดิน ประเภทที่อยู่อาศัยแนวราบที่ปล่อยเช่า ก็ทำการตรวจสอบเช่นเดียวกับคอนโดฯปล่อยเช่า

คือให้เจ้าหน้าที่ลงสำรวจในพื้นที่ การจัดเก็บจะเก็บเป็นรายปี คิดตามอัตราค่าเช่า รวมถึงดูถึงพื้นที่บ้าน ก่อนนำมาประเมิน เช่น เก็บค่าเช่าเดือนละ 1,000 บาท แต่หากมาประเมินดูแล้วต้องเก็บเดือนละ 5,000 บาท ก็ต้องปรับอัตราจัดเก็บเพิ่ม

ส่วนภาษีป้ายขณะนี้จัดเก็บได้กว่า 800 ล้านบาท มากกว่าที่ประมาณการไว้ 800 ล้านบาท แม้มีพื้นที่ที่ติดตั้งป้ายน้อยลง

คือบริเวณที่มีการก่อสร้างรถไฟฟ้า แต่รัฐกำลังแก้กฎหมายจัดเก็บภาษีป้ายอิเล็กทรอนิกส์ ในอนาคตจะจัดเก็บได้มากขึ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า จากการสำรวจของ กทม.ในปี 2558 พบว่ามีจำนวนบ้านในกรุงเทพฯอยู่ที่กว่า 2.7 ล้านหลัง ส่วนป้ายปี 2559 อยู่ที่ 1,078 ป้าย

ประเมินจัดสรรปล่อยเช่า 10%

นายวิวัธน์ ศรีเจริญวงศ์ นายกสมาคมบริหารทรัพย์สินแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ไม่สามารถประเมินได้ว่ามีจำนวนยูนิตจัดสรรแนวราบใน กทม.มากน้อยแค่ไหน แต่ในแต่ละโครงการมีการปล่อยเช่าไม่เกิน 10%

ส่วนใหญ่เป็นโครงการในทำเลดี เช่น ใจกลางเมือง สีลม สาทร สุขุมวิทตอนต้น หรือห่างจากกลางเมืองไม่มาก โดยผู้เช่าเป็นชาวต่างชาติ ลักษณะการให้เช่ามักทำสัญญาปล่อยเช่ารายปี และอาจไม่ได้เสียภาษีโรงเรือนถูกต้อง เช่นเดียวกับการปล่อยเช่าคอนฯซึ่งตรวจสอบได้ยาก

โบรกฯชี้บ้านหาผู้เช่ายาก

นายสุรเชษฐกองชีพรองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บจ.คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชันแนล (ประเทศไทย) กล่าวว่า ยังไม่มีการเก็บสถิติการปล่อยเช่าจัดสรรแนวราบ แต่เชื่อว่ามีการปล่อยเช่ากระจายทุกทำเลใน กทม. ตั้งแต่ 1,500 บาท/เดือน จนถึงบ้านหรูค่าเช่า 4-5 แสนบาท/เดือน

กลุ่มที่ปล่อยเช่ามากคือ ทาวน์เฮาส์ ค่าเช่า 5,000-6,000 บาท/เดือนขึ้นไป ทำเลขอบเมือง เช่น ถ.พระราม 3, บางนา, ถ.ราชพฤกษ์, ถ.รามอินทรา

ส่วนใหญ่ได้ผลตอบแทนรายได้ 4-6% ต่อปี ดีกว่าห้องชุดที่ปัจจุบันผลตอบแทนลดลง แต่บ้านเช่าหาผู้เช่ายากกว่า เพราะพื้นที่ใช้สอยมาก ผู้เช่าต้องเป็นครอบครัวใหญ่ หรือบริษัทเช่าให้พนักงานหรือผู้บริหาร

อย่างไรก็ตาม นายภวรัญชน์ อุดมศิริ กรรมการผู้จัดการ สายงานพัฒนาโครงการทาวน์โฮมและบ้านแฝด บมจ.แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ หรือโกลเด้นแลนด์มองว่า จัดสรรแนวราบปล่อยเช่าน้อยมาก

หากเป็นทาวน์เฮาส์มีไม่ถึง 5% บ้านแฝดหรือบ้านเดี่ยวยิ่งมีน้อยลงอีก ทำเลปล่อยเช่าส่วนใหญ่เป็นทำเลชานเมือง ทาวน์เฮาส์ราคาต่ำกว่า 2 ล้านบาท ปล่อยเช่าได้ผลตอบแทน 5,000-7,000 บาท/เดือน

แต่ที่ปล่อยเช่าสูงสุด คือ อาคารพาณิชย์ หรือโฮมออฟฟิศ 20-30% ของโครงการ เพื่อใช้ทำธุรกิจ ร้านค้า สโตร์เก็บของ

“เชียงใหม่” ต้อนป้ายเข้าระบบ

นายทัศนัย บูรณุปกรณ์ นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ยังไม่ได้รับแจ้งจากส่วนกลางเกี่ยวกับการเร่งรัดให้ท้องถิ่นจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะภาษีบ้านเช่า

ซึ่งปัจจุบันเทศบาลนครเชียงใหม่จัดเก็บภาษีอยู่แล้ว โดยเฉพาะหอพักหรืออพาร์ตเมนต์ต่าง ๆ ที่ทำธุรกิจเต็มรูปแบบ แต่ในส่วนของบ้านเช่าเป็นหลังที่เจ้าของบ้านปล่อยให้เช่า ยังไม่เรียกเก็บเพราะยุ่งยากที่จะเข้าไปตรวจสอบ

ส่วนการขึ้นภาษีป้ายก็ยังไม่ได้รับรายงานเช่นกัน แต่มีการจัดเก็บเป็นปกติอยู่แล้ว และยังไม่มีนโยบายเก็บภาษีป้ายเพิ่มขึ้น แต่ต้องการทำให้ฐานการจัดเก็บภาษีกว้างขึ้น ให้ป้ายโฆษณาที่ไม่อยู่ในระบบเข้าสู่ระบบให้สามารถจัดเก็บภาษีได้มากขึ้น

นางสาวเฉลิมลักษณ์ เก็บทรัพย์ นายกเทศมนตรีเมืองป่าตอง จ.ภูเก็ต กล่าวว่า ปีงบประมาณ 2560 เทศบาลเมืองป่าตองได้ว่าจ้างเอกชนช่วยจัดเก็บภาษีให้ทั้งบ้านเช่า โรงแรม โรงเรือน ที่ดิน รวมทั้งภาษีป้ายต่าง ๆ

เนื่องจากที่ผ่านมาการจัดเก็บภาษีล่าช้ามากและไม่ทั่วถึง หาคนทำงานไม่ได้ และเก็บไม่จริง จึงต้องว่าจ้างบริษัทเอกชนโดยใช้งบฯ 5-6 ล้านบาท เริ่มดำเนินการ 1 ตุลาคมนี้ เพราะธุรกิจในป่าตองเติบโตขึ้นมาก

อปท.หนุนเพิ่มภาษีป้าย

นายชัยอนันท์ สุทธิกุล นายกเทศมนตรีเมืองกะทู้ จ.ภูเก็ต กล่าวว่า การเก็บภาษีบ้านเช่า เทศบาลเมืองกะทู้จัดเก็บภาษีบ้านเช่าตามปกติ แต่ไม่ได้เข้มงวดมากเนื่องจากบ้านเช่าในพื้นที่มีไม่มาก ขณะที่ภาษีป้ายหากมีการเร่งรัดให้จัดเก็บมากขึ้น จะทำให้ท้องถิ่นมีรายได้มากขึ้นอีก ทั้งยังทำให้การจัดเก็บภาษีเป็นระบบขึ้นด้วย
สอดคล้องกับที่ นายภูดิท รักษาราษฎร์ นายกเทศมนตรีตำบลรัษฎา จ.ภูเก็ต ชี้ว่า การจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินหรือบ้านเช่านั้น ในพื้นที่เทศบาลตำบลรัษฎา มีบ้านเช่าหมู่ที่ 1-7 ยกเว้นหมู่ 4 เป็นบ้านชาวเล หรือชาวไทยใหม่ ไม่จัดเก็บหมู่เดียว
โดยขณะนี้มีการสำรวจข้อมูลมากขึ้น เข้มงวดขึ้น เนื่องจากบ้านเช่าผุดใหม่เรื่อย ๆ เฉลี่ยจัดเก็บรายได้เพิ่มปีละ 10%
ขณะที่นายนพดล แก้วสุพัฒน์ นายกสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย มองว่า การขึ้นอัตราภาษีป้ายนั้น หากบังคับใช้จริงจะช่วยให้ อปท.แต่ละแห่งสามารถจัดเก็บภาษีนำไปพัฒนาพื้นที่ได้มากขึ้น

ส่วนเรื่องผลกระทบกับเอกชน ขณะนี้กำลังศึกษาว่าจะกระทบในด้านใดบ้าง

อสังหาฯโดนหางเลข ด้านนางณัฏฐนันท์ คุณาจิระกุล นายกสมาคมการค้าอสังหาริมทรัพย์ จ.ระยองมองว่า อัตราภาษีป้ายใหม่ซึ่งสูงขึ้นกว่าเดิม จะทำให้ภาคอสังหาฯได้รับผลกระทบ เพราะต้องทำการตลาดด้วยป้ายเยอะมาก สุดท้ายจะกลายเป็นผลักภาระให้ผู้บริโภค

“ที่ผ่านมาภาษีป้ายก็แพงอยู่แล้ว แม้แต่ป้ายที่ปักตามข้างทาง หรือที่เรียกว่าป้ายกองโจร ต้องจ่ายค่าสติ๊กเกอร์อนุญาตให้ปักป้ายละ 200 บาทอยู่แล้วหากปรับภาษีขึ้นจริง ผู้พัฒนาอสังหาฯคงต้องเลือกใช้สื่อมากขึ้น ว่าจะใช้ป้ายแบบถาวร หรือติดชั่วคราว ยิ่งสื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่จะเพิ่มการจัดเก็บด้วย ยิ่งต้องคิดหนัก”

ส.ป้ายชี้กระทบทั้งอุตสาหกรรมส่วนในมุมมองของแหล่งข่าวจากสมาคมป้ายและโฆษณาชี้ว่าหากรัฐปรับขึ้นภาษีป้ายผู้ประกอบการก็พร้อมจ่าย และจะกระทบอุตสาหกรรมป้ายโฆษณาทั้งระบบ และผู้ประกอบการป้ายคงต้องปรับขึ้นราคาป้ายตามไปด้วยโดยส่วนตัวมองว่าการปรับขึ้นอัตราภาษีป้าย เป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด ที่สำคัญรัฐควรหารือร่วมกับสมาคมป้ายและโฆษณารวมถึงผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องเพื่อรับฟังความเห็นและชี้แจงข้อมูลก่อน เพื่อจะได้แก้ปัญหาตรงจุด นอกจากนี้ควรจัดเก็บภาษีอย่างเป็นระบบและเท่าเทียมกัน

สำหรับป้ายแอลอีดีที่เป็นแนวโน้มของตลาดและมีการขยายตัวต่อเนื่องมีสินค้าและบริการต่างๆ โฆษณาหมุนเวียนตลอดเวลา คล้าย ๆ การโฆษณาทางโทรทัศน์ ภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงควรกำหนดรายละเอียดวิธีการเก็บภาษีให้ชัดเจน