Where we are

MACO is Thailand

leading creative and innovative out of home media solution provider.

AGE INCLUSIVE เจาะความสนใจให้ตรงจุด

เทรนด์ Multigeneration เป็นที่นิยมมากขึ้นตั้งแต่ปี 2019 การอยู่ร่วมกันของคนหลายเจเนอเรชั่น มักถูกนำไปใช้เพื่อสร้างบริบททางครอบครัวที่ใหญ่ขึ้น หรือเรียกว่า Multiple Family Generations ให้สมาชิกหลายรุ่นอาศัยอยู่ร่วมกันในพื้นที่เดียว โดยมีพื้นที่ที่อยู่อาศัยเป็นสื่อกลางสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิก แนวคิด Multigeneration นี้ ยังถูกกล่าวถึงในเชิงการท่องเที่ยวแบบ Multigenerational Travel ที่ใช้กิจกรรมหรือสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ เป็นตัวนำเหล่าสมาชิกในครอบครัวออกไปหาประสบการณ์ร่วมกัน 
 
ที่ผ่านมา เรามักพูดถึงการอยู่ร่วมกันแบบ Multigeneration โดยรวมคนต่างวัยมาใช้เวลาด้วยกัน จนอาจลืมคิดว่าสิ่งสำาคัญของการอยู่ร่วมกันได้อย่างราบรื่น ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการความคิดมากกว่าปัจจัยภายนอก เช่น พื้นที่บ้าน หรือแคมเปญท่องเที่ยววาทกรรมที่เกิดขึ้นในโซเชียลมีเดียทุกวันนี้ มีสาเหตุเพราะแต่ละเจเนอเรชั่นต่างไม่ยินดีที่จะถูกตั้งแง่ว่าเป็นคนที่มีทัศนคติตามคนอายุรุ่นนั้น เช่น

- เบบี้บูมเมอร์ที่ไม่ชอบถูกมองว่าตนเองล้าหลัง
- เจเนอเรชั่นเอ็กซ์ที่มองว่าการถูกเรียกว่ามนุษย์ป้าหรือมนุษย์ลุง คือการบูลลี่ประเภทหนึ่ง
- มิลเลนเนียลหรือเจเนอเรชั่นวาย ที่มักยกตนเองว่าเป็นคนทันโลกและบุกเบิกโลกดิจิทัลก่อนใครๆ จึงไม่ระวังการใช้คำพูดบนสื่อโซเชียล และบูลลี่คนกลุ่มอื่น
- เจเนอเรชั่นซีที่ไม่ยอมรับการถูกมองว่าเป็นเด็ก และปล่อยมีมที่เป็นกระแสบนสื่อโซเชียลมากมาย เช่น OK Boomer ที่เสียดสีการถูกตักเตือนจากผู้ใหญ่ที่เกิดในยุคเบบี้บูมเมอร์, การทำตัวเป็นรุ่นพี่ที่เชี่ยวชาญบนแอพพลิเคชั่น TikTok มากกว่าคนรุ่นอื่น อีกทั้งยังโจมตีวัฒนธรรมการดื่มกาแฟและอ่านหนังสือ Harry Potter ซึ่งเป็นที่นิยมมากในคนรุ่นมิลเลนเนียล

บริษัท Pew Research Center ได้สำรวจพฤติกรรมดังกล่าวโดยเฉพาะเจเนอเรชั่นซี โดยให้ความเห็นว่าเจเนอเรชั่นนี้ คือผลผลิตจากคนที่มีความหลากหลายของชาติพันธุ์มากกว่ารุ่นก่อนๆ และยังเป็นรุ่นที่ได้รับการศึกษามากที่สุด ทั้งจากระบบการศึกษาและการศึกษาด้วยตนเองผ่านสื่อดิจิทัล ผลสำรวจจาก BSA ในสหรัฐอเมริกา ระบุว่าจำนวนเด็กเจนซี 86% กังวลและเครียดจากการโดนบูลลี่หรือกลั่นแกล้งที่โรงเรียน ในขณะเดียวกัน พวกเขาก็ต้องการหาพื้นที่ที่ได้ปลดปล่อย และแสดงความเป็นตัวเองบนสื่อโซเชียลหรือผ่านกิจกรรมต่างๆ ที่จัดขึ้นตามไลฟ์สไตล์ของเด็กเจนซี ความตรงไปตรงมาหรือการแสดงออกที่ดูรุนแรงบนสื่อโซเชียล อาจเป็นเพียงวิธีป้องกันตัววิธีหนึ่งของคนรุ่นนี้ 
 
ในความแตกต่างด้านทัศนคติ ยังมีสิ่งที่ทำให้เจนซีคล้ายคลึงกับมิลเลนเนียล นั่นคือแนวคิดด้านการเมืองและสิ่งแวดล้อม เจเนอเรชั่นซี 54% เชื่อในแนวคิดเรื่องโลกร้อน และยินดีปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์เพื่อเยียวยาปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรม ในขณะที่มิลเลนเนียลก็มีทัศนคติแบบเดียวกันเป็นจำนวน 56% นี่เป็นเพียงประเด็นหนึ่งในอีกหลายประเด็นที่แสดงถึงจุดร่วมระหว่างเจเนอเรชั่นที่สามารถสื่อสารถึงกันได้ ยังมีอีกหลายบริบทที่คล้ายคลึงในแต่ละรุ่น จึงกลายเป็นประเด็นที่น่าสนใจว่าหากแต่ละเจเนอเรชั่นสามารถมองเห็นและเข้าใจทัศนคติของกันและกันโดยไม่คิดแบ่งรุ่น จะทำให้ปัญหาความสัมพันธ์ที่กำลังเผชิญอยู่สามารถคลี่คลาย และกลับมาใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างราบรื่นดังเดิมได้หรือไม่
 
ปี 2021 นี้ จึงเป็นการมาถึงของ Intergeneration ทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างวัย ที่ก่อให้เกิดแนวความคิดจากรุ่นสู่รุ่น งานวิจัย Inter-generational Relationships ซึ่งเขียนโดยแคเธอรีน เจ. ทอมป์กินส์ (Catherine J. Tompskins) และซาคราเมนโต พินาโซ (Sacramento Pinazo) กล่าวว่าความสัมพันธ์แบบ Intergeneration ก็เหมือนดั่งการลบเงื่อนไขของคาดว่าเจเนอเรชั่นออกไป (Generation Removed) คุณตาอายุ 60 ปี อาจสนิทกับหลานสาววัย 20 ปี โดยที่ลูกสาวอาจชื่นชอบแนวคิดของคนรุ่นเก่า และคุณตาก็ยินยอมที่จะเรียนรู้ความทันสมัยจากหลานสาว 
 
ดังนั้น การถ่ายทอดแนวคิดไม่จำเป็นต้องส่งจากคนอายุมากกว่าถึงคนอายุน้อยกว่า แต่เป็นการถ่ายโอนแนวคิดการใช้ชีวิตที่เห็นพ้องตรงกันระหว่างคนต่างวัย จึงถือว่าสิ่งนั้นคือแนวทางการอยู่ร่วมกันในแบบฉบับของคนยุคใหม่ ผู้ที่ผ่านการโน้มน้าวทางแนวคิดจากคนรุ่นอื่น หรือหาตัวเองเจอจากความสัมพันธ์เหล่านี้ อาจกลายเป็นผู้สูงอายุยุคใหม่ ชาวมิลเลนเนียลยุคใหม่ หรือชาวเจนซีที่ไม่เหมือนใคร โดยนิยามตัวเองว่าเป็น New Generation หรือคนรุ่นใหม่ในแบบฉบับของตัวเอง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือการก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล คนทุกช่วงวัยเข้าถึงระบบดิจิทัลไปพร้อมกัน แม้จะมีช่วงอายุต่างกัน แต่ผู้สูงอายุจำนวนหนึ่งยินดีที่จะก้าวทันเรื่องเทคโนโลยีและชื่นชอบการใช้งานสื่อออนไลน์เช่นเดียวกับเด็กชาวเจนซีที่ผูกติดชีวิตกับสมาร์ทโฟนตลอดเวลา ความคลั่งไคล้ในไอทีทำให้ผู้คนต่างช่วงวัยกลายเป็นกลุ่มคนผู้บุกเบิกเศรษฐกิจดิจิทัลไปพร้อมกัน คนที่เพิงใช้สมาร์ทโฟนครั้งแรกในวันนั้น ก็คือคนรุ่นใหม่ที่เริมปฏิวัติตัวเองในวันนี้ ดังนั้น คำว่า “คนรุ่นใหม่” จึงไม่ใช่คำนิยามสำหรับเด็กวัยรุ่น หรือเด็กที่เกิดหลังปี 2000 เท่านั้น แต่หมายถึงคนที่พร้อมจะเรียนรู้และปรับตัวกับโลกยุคใหม่ โดยนำประสบการณ์จากช่วงวัยและบทเรียนจากอดีต มาผสานเข้ากับความท้าทายที่พบเจอในปัจจุบัน
 
เราต่างเป็นคนรุ่นใหม่ที่กำลังก้าวไปข้างหน้าเพื่อเผชิญกับอนาคตที่ไม่มีอะไรแน่นอน 
 
เมื่อทุกสิ่งคือการปรับตัว วัฒนธรรมการเรียนรู้จึงมีอยู่ไม่จำกัด การเรียนรู้ซึ่งกันและกันในสังคมที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ เพศ และอายุ ได้หล่อหลอมความเป็น New Generation ให้มีตัวตนในสังคมโลก แต่ละช่วงเวลาหล่อหลอมให้คนมีพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ต่างกัน แต่เดิมการตั้งชื่อให้แต่ละเจเนอเรชั่น มาจากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจากประเด็นสำคัญของประชากรรุ่นนั้น อย่างรุ่นเบบี้บูมเมอร์ บ่งบอกถึงข้อเท็จจริงที่ว่าประชากรหลังสงครามโลกเติบโตอย่างรวดเร็ว เหมือนดั่งการระเบิดของจำนวนประชากรครั้งยิ่งใหญ่ มาในยุคนี้ที่เจเนอเรชั่นซีกลายเป็นน้องใหม่ที่เริ่มเรียนรู้เทคโนโลยีดิจิทัลตั้งแต่กำเนิด คนเจเนอเรชั่นซี (Generation Z) ที่มาจากคำว่า ซูมเมอร์ (Zoomer) มาจากข้อเท็จจริงด้านการเปลี่ยนแปลงครั้งยิงใหญ่ของระบบสื่อสารทางไกลที่รวดเร็ว เหตุการณ์ล็อกดาวน์ในช่วงวิกฤตการณ์ COVID-19 ที่ผ่านมา ทำให้เกิดปรากฏการณ์ Zoomer อีกครั้งบนแพลตฟอร์มโซเชียล TikTok ซึ่งใช้งานโดยบัญชีของเจเนอเรชั่นซีเป็นจำนวน 90% จากทั้งหมด จากปรากฏการณ์เพียงในช่วงไม่กี่เดือน เหล่าเจนซีสามารถสร้างค่านิยมใหม่ให้กลายเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับคนรุ่นอื่นๆ และในเวลาถัดมา คำว่า Zoomer จึงได้กลายเป็นมีมที่เป็นกระแสและขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์อีกครั้ง ทำให้ผู้คนเริมเห็นการมีตัวตนของคนเจนซี ที่มากกว่าคำว่าเจเนอเรชั่นซูมเมอร์อีกครั้งหนึ่ง รายงานจาก Pew Research Center ระบุว่าพฤติกรรมและแนวคิดของซูมเมอร์ยุคนี้ เหมือนกับการ สร้างปรากฏการณ์ทางสังคมของเหล่าเบบี้บูมเมอร์ในช่วงวัย 19 ปี และเจเนอเรชั่นเอ็กซ์ในช่วงวัย 16 ปีเมื่อครั้งในอดีต ซึ่งไม่ใช่แค่กระแสที่มาแล้วไปในช่วงสั้นๆ แต่ปรากฏการณ์ของซูมเมอร์ ยังต่อยอดถึงการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญสำหรับอนาคตเช่น การศึกษา อาชีพ ประสบการณ์ และการจ้างงาน 
 
ที่มา: เจาะเทรนด์โลก 2021 โดย TCDC